"การดำรงตนเป็น หมอดี มีคุณธรรม
หมอโบราณไม่หวงวิชา แต่ครูจะพิจารณาว่า ศิษย์เป็นคนดี มีคุณธรรมแค่ไหน
จะเรียนหมอไปรับใช้ประชาชนได้หรือไม่ ?
หมอแผนโบราณมีคุณธรรม จริยธรรม ศีลธรรม แม้ไม่มีโรงเรียนก็ใช้วิธีเรียนตัวต่อตัว"
"หมอแผนโบราญมีความสำคัญมาก
ระหว่างหมอกับประชาชนในชนบท หมอเป็นทุกอย่าง
เป็นที่ปรึกษาทุกด้าน มิใช่การรักษาโรคเพียงอย่างเดียว จึงเป็นที่พึ่งของประชาชน
หากไม่มีคุณธรรมแล้ว จะเป็นที่พึ่งของประชาชนได้อย่างไร
ต้องมีความเสียสละ ต้องรับใช้ประชาชนในยามตกทุกข์ได้ยาก
วันนี้วัฒนธรรม ศีลธรรมหมดไปแล้ว เพราะว่าเราละของเก่า เห็นว่าของเก่าไม่มีคุณค่า
ภาพเขียนต่าง ๆ ของโบราณ ได้แสดงให้เห็นถึงรากฐานของคนโบราณ
บัดนี้เราได้เปลี่ยนแปลง
เรามาช่วยกันฟื้นฟู พัฒนาการแพทย์พื้นบ้านการแพทย์แผนไทยให้สอดคล้องกับสังคม"
(พระครูอุปการะพัฒนกิจ
หมอเหยียบเหล็กแดง เจ้าอาวาสวัดหนองหญ้านาง จังหวัดอุทัยธานี)
"การช่วยเหลือคนที่มีความทุกข์ที่เราพอจะช่วยได้คือความสุข
เพราะเรามีความมุ่งมั่นี่จะช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน
โดยไม่มีการเรียกร้องค่ารักษา"
"คนเจ็บป่วยมาหาเอง มาขอความช่วยเหลือ
เป็นเพื่อนมนุษย์เหมือนกัน จึงช่วยเหลือกันไป"
(นายสง่า พันธุ์สายศรี
หมอเหยียบเหล็กแดง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา)
"ก็มีแค่กรวยดอกไม้ธูปเทียน ๕ กรวย เหล้า ๑ ขวด ส่วนเงินจะให้หรือไม่ให้ก็ไม่ว่าอะไร
หรือแม้แต่คนที่ไม่มายกครูเลยก็ไม่เป็นไร ถือตามที่ครูบอกว่าให้ทำเอาบุญ
แต่ที่ผ่านมาก็ไม่ค่อยมี เพราะคนบ้านเราเขาถือกันมากเรื่องนี้"
"หมอพื้นบ้านมันเป็นของที่ปู่ย่าตายายเขาสอนสั่งกันมา
ข้อดีคือไม่ต้องไปหาหมอในเมือง ไม่ต้องเสียเงิน
บางทีเป็นอะไรเล็ก ๆ น้อย ๆ หมอพื้นบ้านเราก็รักษาหาย
บางคนเขาไม่เชื่อ เป็นอะไรหน่อยก้ไปหาหมอในเมือง
แต่พอไม่หายก็มาหาเรา ก็ไม่เคยว่าอะไร ช่วยเท่าที่ช่วยได้"
"อยากหาคนสืบทอดต่อเหมือนกัน แต่ตอนนี้ยังไม่เห็นใคร
เพราะถ้าจะเป็นจริง ๆ ก็ต้องตั้งใจ ต้องอดทน
ของแบบนี้ไม่อยากให้ตายไปกับตัวเรา"
(นายทองหล่อ ปะรินรัมย์
หมอสมุนไพร จังหวัดบุรีรัมย์)
รู้จักการแพทย์พื้นบ้าน
สังคมไทย ได้มีการพื้นฟูแนวคิดเกี่ยวกับภูมิปัญญาพื้นบ้าน หรือ ภูมิปัญญาชาวบ้าน โดยเริ่มจากกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) แนววัฒนธรรมชุมชน ที่สรุปบทเรียนจากการทำงานพัฒนาชนบทโดยใช้กระบวนการแบบมีส่วนร่วม (Community participation) แล้วพบว่า วัฒนธรรมเป็นพลังของการพัฒนาในกระบวนการทำงานได้เกิดการค้นหานักฟื้นฟู นักประยุกต์และเสริมสร้างสิ่งใหม่บนรากฐานเดิม เพื่อรักษาเสถียรภาพของชุมชนให้ดำรงอยู่ได้อย่างสมสมัย นักประดิษฐ์คิดค้นทางวัฒนธรรมที่กล่าวถึงดังกล่าว ถูกเรียกว่า "ปราชญ์ชาวบ้าน" หรือ "ผู้รู้ชาวบ้าน" สติปัญญาที่นำมาสร้างสรรค์นี้เรียกว่า "ภูมิปัญญาชาวบ้าน" หรือ "ภูมิปัญญาพื้นบ้าน"
ภูมิปัญญาพื้นบ้านด้านสุขภาพนับเป็นวัฒนธรรมการดูแลสุขภาพและความเจ็บป่วยของประชาชน ซึ่งมีความหลากหลายทั้งชาติพันธุ์และวัฒนธรรมย่อยในสังคมไทย เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ที่ตกผลึกจากการสังเกตทดลองใช้ คัดเลือก กลั่นกรอง และสั่งสมสืบทอดจากคนรุ่นก่อน สู่คนรุ่นหลัง เป็นสิ่งสะท้อนระบบคิด ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ มนุษย์กับธรรมชาติ และมนุษย์กับสิ่งเหนือธรรมชาติ เพื่อการดำรงอยู่ การพึ่งพาตนเอง นอกจากนี้ภูมิปัญญาพื้นบ้านด้านสุขภาพยังมีการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ในสังคมไทยยุคปัจจุบันภูมิปัญญาด้านสุขภาพของคนไทยสามารถพิจารณาคุณค่าและความหมายในหลายมิติ และยังเป็นทุนทางปัญญาและเทคโนโลยีที่เรียบงาย สามารถเข้าถึง ใช้ประโยชน์ และพึ่งตนเองได้ อันเป็นแบบแผนการดูแลสุขภาพตนเองบนฐานแนวคิดแบบเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งสามารถพัฒนาต่อยอดและประยุกต์ใช้เป็นสินค้าและบริการในสังคมทุนนิยมได้ด้วย เป็นทรัพย์สินทางปัญญาที่สังคมควรดูแล คุ้มครอง ส่งเสริมให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนและยุติธรรม
ภูมิปัญญาพื้นบ้านด้านสุขภาพสามารถจำแนกเป็น ๒ ลักษณะ คือ ภูมิปัญญาพื้นบ้านด้านสุขภาพ (Indigenous health) และภูมิปัญญาการแพทย์พื้นบ้าน (Indigenous Medicine)
"ภูมิปัญญาพื้นบ้านด้านสุขภาพ" หมายถึง วัฒนธรรมการดูแลรักษาสุขภาพของกลุ่มชนและชาติพันธุ์และเป็นระบบคิด องค์ความรู้ และวิถีปฏิบัติเพื่อการดูแลสุขภาพและรักษาความเจ็บป่วย มีอัตลักษณ์ สัมพันธ์กับวัฒนธรรม เคลื่อนไหว เปลี่ยนแปลงและผสมผสานกับการแพทย์แบบอื่น นอกจากนี้ ภูมิปัญญาพื้นบ้านด้านสุขภาพได้รับการถ่ายทอดผ่านประสบการณ์ตรง นับเป็นความรู้เชิงประสบการณ์ (experienced-knowledge) ภายใต้บริบทสังคมวัฒนธรรมและระบบนิเวศน์
"การแพทย์พื้นบ้าน" หมายถึง ภูมิปัญญาการรักษาโรคของท้องถิ่นและชาติพันธุ์ที่มีฐานความคิดและแบบแผนการปฏิบัติที่ผสมผสานระหว่างอำนาจเหนือธรรมชาติ ศาสนา และประสบการณ์จาการปฏิบัติจริงที่สะสม สืบทอด และใช้ประโยชน์ในท้องถื่น โดยหมอพื้นบ้านมีบทบาทสำคัญในการรักษาโรค
"หมอพื้นบ้าน" หมายถึง บุคคลซึ่งมีความรู้ความสามารถในการส่งเสริมและดูแลสุขภาพของประชาชนในท้องถิ่น ด้วยภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยหรือการแพทย์พื้นบ้าน ตามวัฒนธรรมของชุมชนสืบทอดกันมานานเป็นที่นิยมยกย่องจากชุมชน