รู้จักการแพทย์พื้นบ้าน
สังคมไทย ได้มีการพื้นฟูแนวคิดเกี่ยวกับภูมิปัญญาพื้นบ้าน หรือ ภูมิปัญญาชาวบ้าน โดยเริ่มจากกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) แนววัฒนธรรมชุมชน ที่สรุปบทเรียนจากการทำงานพัฒนาชนบทโดยใช้กระบวนการแบบมีส่วนร่วม (Community participation) แล้วพบว่า วัฒนธรรมเป็นพลังของการพัฒนาในกระบวนการทำงานได้เกิดการค้นหานักฟื้นฟู นักประยุกต์และเสริมสร้างสิ่งใหม่บนรากฐานเดิม เพื่อรักษาเสถียรภาพของชุมชนให้ดำรงอยู่ได้อย่างสมสมัย นักประดิษฐ์คิดค้นทางวัฒนธรรมที่กล่าวถึงดังกล่าว ถูกเรียกว่า "ปราชญ์ชาวบ้าน" หรือ "ผู้รู้ชาวบ้าน" สติปัญญาที่นำมาสร้างสรรค์นี้เรียกว่า "ภูมิปัญญาชาวบ้าน" หรือ "ภูมิปัญญาพื้นบ้าน"
ภูมิปัญญาพื้นบ้านด้านสุขภาพนับเป็นวัฒนธรรมการดูแลสุขภาพและความเจ็บป่วยของประชาชน ซึ่งมีความหลากหลายทั้งชาติพันธุ์และวัฒนธรรมย่อยในสังคมไทย เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ที่ตกผลึกจากการสังเกตทดลองใช้ คัดเลือก กลั่นกรอง และสั่งสมสืบทอดจากคนรุ่นก่อน สู่คนรุ่นหลัง เป็นสิ่งสะท้อนระบบคิด ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ มนุษย์กับธรรมชาติ และมนุษย์กับสิ่งเหนือธรรมชาติ เพื่อการดำรงอยู่ การพึ่งพาตนเอง นอกจากนี้ภูมิปัญญาพื้นบ้านด้านสุขภาพยังมีการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ในสังคมไทยยุคปัจจุบันภูมิปัญญาด้านสุขภาพของคนไทยสามารถพิจารณาคุณค่าและความหมายในหลายมิติ และยังเป็นทุนทางปัญญาและเทคโนโลยีที่เรียบงาย สามารถเข้าถึง ใช้ประโยชน์ และพึ่งตนเองได้ อันเป็นแบบแผนการดูแลสุขภาพตนเองบนฐานแนวคิดแบบเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งสามารถพัฒนาต่อยอดและประยุกต์ใช้เป็นสินค้าและบริการในสังคมทุนนิยมได้ด้วย เป็นทรัพย์สินทางปัญญาที่สังคมควรดูแล คุ้มครอง ส่งเสริมให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนและยุติธรรม
ภูมิปัญญาพื้นบ้านด้านสุขภาพสามารถจำแนกเป็น ๒ ลักษณะ คือ ภูมิปัญญาพื้นบ้านด้านสุขภาพ (Indigenous health) และภูมิปัญญาการแพทย์พื้นบ้าน (Indigenous Medicine)
"ภูมิปัญญาพื้นบ้านด้านสุขภาพ" หมายถึง วัฒนธรรมการดูแลรักษาสุขภาพของกลุ่มชนและชาติพันธุ์และเป็นระบบคิด องค์ความรู้ และวิถีปฏิบัติเพื่อการดูแลสุขภาพและรักษาความเจ็บป่วย มีอัตลักษณ์ สัมพันธ์กับวัฒนธรรม เคลื่อนไหว เปลี่ยนแปลงและผสมผสานกับการแพทย์แบบอื่น นอกจากนี้ ภูมิปัญญาพื้นบ้านด้านสุขภาพได้รับการถ่ายทอดผ่านประสบการณ์ตรง นับเป็นความรู้เชิงประสบการณ์ (experienced-knowledge) ภายใต้บริบทสังคมวัฒนธรรมและระบบนิเวศน์
"การแพทย์พื้นบ้าน" หมายถึง ภูมิปัญญาการรักษาโรคของท้องถิ่นและชาติพันธุ์ที่มีฐานความคิดและแบบแผนการปฏิบัติที่ผสมผสานระหว่างอำนาจเหนือธรรมชาติ ศาสนา และประสบการณ์จาการปฏิบัติจริงที่สะสม สืบทอด และใช้ประโยชน์ในท้องถื่น โดยหมอพื้นบ้านมีบทบาทสำคัญในการรักษาโรค
"หมอพื้นบ้าน" หมายถึง บุคคลซึ่งมีความรู้ความสามารถในการส่งเสริมและดูแลสุขภาพของประชาชนในท้องถิ่น ด้วยภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยหรือการแพทย์พื้นบ้าน ตามวัฒนธรรมของชุมชนสืบทอดกันมานานเป็นที่นิยมยกย่องจากชุมชน